1. การสิ้นสุดการสมรสมี 3 วิธี คือ
- ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย
- การจดทะเบียนหย่า
-
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส
2. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ม. 1514 กำหนดว่า "การหย่าจะทำได้โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน” ทั้งนี้ การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายกระทำได้ 2วิธีคือ 1)การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียนและ 2) การจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
3. สถานเอกอัครราชทูตฯ จะดำเนินการจดทะเบียนหย่าให้เฉพาะแก่คู่สมรสที่แต่งงานตามกฎหมายไทยเท่านั้นหากจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายบราซิลเพียงอย่างเดียว และประสงค์จะหย่าขาดจากกัน ไม่สามารถจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายไทยได้ เนื่องจากไม่ได้ทำการสมรสตามกฎหมายไทย จึงต้องจดทะเบียนหย่าที่หน่วยงานบราซิลเท่านั้น
4. ขั้นตอนการขอจดทะเบียนหย่า
4.1กรณีจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน (คู่สมรสที่ประสงค์จดทะเบียนหย่าต้องมาดำเนินการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมกันด้วยตนเองทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยขอให้จัดส่งสำเนาหลักฐานและเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เตรียมการล่วงหน้าก่อน ทางไปรษณีย์ และจากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อกำหนดวันนัดหมายจดทะเบียนหย่าต่อไปภายใน 10 วันทำการ) โดยมีขั้นตอนและเอกสารประกอบ ดังนี้
4.1.1 แบบฟอร์มคำร้องนิติกรณ์
4.1.2 คำร้องขอจดทะเบียนหย่าที่ลงนามโดยฝ่ายชายและหญิง
4.1.3 หนังสือสัญญาหย่าโดยความยินยอมที่ระบุข้อตกลงในการหย่า และลงนาม โดยฝ่ายชายและหญิง
4.1.4 ต้นฉบับใบทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทยหรือสำเนาที่มีตราประทับรับรองจากสำนักงานเขต/อำเภอ (หากไม่มี จะต้องไปดำเนินการขอคัดสำเนามาก่อน)
4.1.5 หนังสือเดินทางของคู่หย่า และสำเนาคนละ 1ฉบับ
4.1.6 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน คนละ 1 ฉบับ(หากเป็นชาวต่างชาติ ให้แสดงหนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ)
4.1.7 สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
4.1.8 สำหรับบุคคลที่จดทะเบียนสมรสก่อนวันที่ 5 มิถุนายน 2546 คู่หย่าฝ่ายหญิงจะต้องมีหนังสือเดินทางไทย และหลักฐานทะเบียนราษฎรที่เป็นชื่อสกุลคู่หย่า ฝ่ายชายเพื่อใช้ในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่า โดยหากฝ่ายหญิงไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลหลังแต่งงาน ต้องไปดำเนินการเปลี่ยนที่สำนักงานเขต/อำเภอที่ประเทศไทยให้เรียบร้อยก่อนมายื่นคำร้องขอหย่า ทั้งนี้ ถ้าท่านอาศัยอยู่ในประเทศบราซิล สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลหลังแต่งงานได้
4.2 กรณีหย่าต่างสำนักทะเบียน คือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่หย่าทั้งสองฝ่าย โดยที่ต่างฝ่ายต่างอยู่คนละแห่งไม่สามารถเดินทางไปจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนเดียวกันได้ ทั้งนี้ คู่หย่าจะต้องตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้สำนักทะเบียนใดเป็นผู้จดทะเบียนให้การหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนแห่งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว
·การหย่าต่างสำนักทะเบียน มี 2 แบบ ดังนี้
4.2.1 แบบที่ 1 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยเป็นผู้ยื่นเรื่องที่สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย
สำนักทะเบียนแห่งที่ 1 คือ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย
สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งจะเป็นผู้จดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้
โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยเป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนที่ประเทศไทยก่อน เอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเอกสารแล้ว จะดำเนินการติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลเพื่อมาดำเนินการจดทะเบียนหย่า (ด้วยตนเอง) ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้
ขั้นตอนการดำเนินการ
- เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเอกสารการหย่าจากสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยซึ่งส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศแล้ว จะดำเนินการติดต่อ / ขอให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลมาลงลายมือชื่อในเอกสารการหย่า
- ในวันนัดหมาย คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลจะต้องจัดเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
· ต้นฉบับใบทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทย หรือสำเนาที่มีตราประทับรับรองจากสำนักงานเขต/อำเภอ (หากไม่มี จะต้องไปดำเนินการขอคัดสำเนามาก่อน)
· หนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 1 ฉบับ (หากเป็นชาวต่างชาติ ให้แสดงหนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ)
· สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
- สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมอบใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลในวันที่มาจดทะเบียนหย่า และจะส่งใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยเพื่อมอบให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยต่อไป
4.2.2แบบที่ 2 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ที่บราซิลเป็นผู้ยื่นเรื่องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
สำนักทะเบียนแห่งที่ 1 คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ
สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 คือ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้จดทะเบียน
และออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้
โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ (จะต้องเตรียมเอกสารจากคู่หย่าที่อยู่ประเทศไทยเพื่อประกอบการยื่นขอ) เอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทย (ตามที่แจ้ง) ทั้งนี้ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทยจะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า
ขั้นตอนการดำเนินการ
- จัดเตรียมเอกสารจากคู่หย่าที่อยู่ประเทศไทย
·หนังสือสัญญาหย่าโดยความยินยอมต้องกรอกข้อความรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งข้อตกลงเรื่องทรัพย์สิน บุตร และอื่น ๆ และคำนำหน้าชื่อฝ่ายหญิงหลังการหย่า โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยและพยานคนไทย 2 คน จะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ และให้เจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองลายมือชื่อของคู่หย่าและพยานทั้งสองด้วย (ส่วนช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่บราซิลให้เว้นว่างไว้ เพื่อมาลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ)
·สำเนาเอกสารประจำตัวของคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยและพยานทั้งสอง ซึ่งต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ
- จัดเตรียมเอกสารของคู่หย่าที่อยู่ในบราซิล
· ต้นฉบับใบทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทย หรือสำเนาที่มีตราประทับรับรองจากสำนักงานเขต/อำเภอ (หากไม่มี จะต้องไปดำเนินการขอคัดสำเนามาก่อน)
· หนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 1 ฉบับ (หากเป็นชาวต่างชาติ ให้แสดงหนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ)
· สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
- ในวันนัดหมาย คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลจะต้องนำเอกสารตัวจริงตามข้างต้นพร้อมสำเนามาแสดง และลงลายมือชื่อในเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดเตรียมไว้
- สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดส่งเอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทย (ตามที่ผู้ร้องแจ้ง) เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า ซึ่งสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยจะมอบใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทย และจะจัดส่งใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อมอบให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลต่อไป (หากคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในบราซิลประสงค์จะให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ส่งใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้ทางไปรษณีย์ จะต้องจัดเตรียมซองไปรษณีย์จ่าหน้าถึงตัวเองพร้อมค่าธรรมเนียมการส่งไปรษณีย์มอบแก่สถานเอกอัครราชทูตฯ ไว้ด้วย)
---------------------------------